หัวข้อ

ชาวมอรมอนและการศึกษา: ภาพรวม

{nb}

การศึกษาสำคัญยิ่งต่อสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและสอดคล้องกับค่านิยมอีกมากมายที่สมาชิกยึดมั่น ชาวมอรมอน รักการเรียนรู้และทุ่มเทเพื่อให้ได้ความรู้ ความตั้งใจศึกษา ทั้งในแง่หลักธรรมและการปฏิบัติ ประจักษ์ชัดในความเชื่อ คำสอน และกิจกรรมประจำวันของพวกเขา พวกเขาประกาศยืนยันว่าการศึกษาเป็นการแสวงหาชั่วชีวิตโดยมีจุดประสงค์สำคัญยิ่งหลากหลายรูปแบบ พวกเขามีความเข้าใจไม่เหมือนใครว่าการศึกษาคืออะไร—นั่นก็คือ หลักธรรมที่เห็นคุณค่าของจิตวิญญาณมนุษย์เช่นเดียวกับสติปัญญา นอกจากนี้ชาวมอรมอนยังมีประเพณีการศึกษาที่ดีงามมายาวนานด้วย เป็นสิ่งที่พวกเขาทะนุถนอมรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาเชื่อว่าควรพยายามศึกษาให้มากที่สุด วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงทุ่มเททรัพย์สินเงินทองและพลังงานกับเรื่องนี้

1. ความเข้าใจของชาวมอรมอนเกี่ยวกับการศึกษา

จุดประสงค์ของการศึกษา

หลักธรรมเรื่องการศึกษาร้อยเรียงอยู่ในความเชื่อพื้นฐานส่วนใหญ่ของชาวมอรมอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า ชีวิต และตนเอง ตัวอย่างเช่น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายประกาศยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง และได้รับการสอนว่า “รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าคือความรู้แจ้ง, หรือ, อีกนัยหนึ่ง, แสงสว่างและความจริง”[1] พวกเขาเชื่อเช่นกันว่าในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า วัตถุประสงค์ของคนทั้งปวงคือพยายามตลอดเวลาเพื่อเป็นเหมือนพระองค์ พวกเขาเห็นว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญยิ่งของความพยายามนั้น ด้วยเหตุนี้สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายแล้ว ชีวิตจึงไม่เพียงเป็นเวลาของการทดสอบเท่านั้นแต่เป็นโรงเรียนพัฒนาความเข้าใจผ่านทั้งการศึกษาและประสบการณ์ด้วย[2] การศึกษาเป็นจุดประสงค์โดดเด่นประการหนึ่งของชีวิตและมีคุณค่ายั่งยืนนิรันดร์เหนือความตาย[3] การพัฒนาอุปนิสัยให้ดีงาม ฉลาดหลักแหลม และเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าคือจุดหมายสุดท้ายของการศึกษา[4]

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อว่าเนื่องด้วยคุณค่าอันยั่งยืนและยอดเยี่ยมที่สุดของการศึกษา พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงทำให้การศึกษาเป็นพระบัญชาซึ่งลูกๆ ของพระองค์ต้องรับผิดชอบ[5] ทั้ง พระคัมภีร์ไบเบิล และ พระคัมภีร์มอรมอน สะท้อนพระบัญชานี้ด้วยการเชิญชวนให้แสวงหา “เคาะ” และขอความรู้ การเปิดเผยยุคปัจจุบันและศาสดาพยากรณ์ให้คำแนะนำที่ชัดเจนว่าต้องเรียนรู้ อีกทั้งชี้แจงว่าการเรียนรู้จำเป็นต่อความรอด โจเซฟ สมิธผู้ก่อตั้งศาสนจักรสอนว่า “มนุษย์ไม่ได้รอดเร็วกว่าที่เขาตักตวงความรู้” และ “เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะรอดในความเขลา”[6] ชาวมอรมอนประกาศยืนยันเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุตรธิดาพระองค์ พระองค์ทรงทำให้ความคิดสว่าง พระองค์ทรงสัญญาว่าพระองค์ทรงยอมรับคนที่พยายามเรียนรู้และจะปันส่วนความรู้ของพระองค์ให้เขา[7]

เบื้องหลังวิธีศึกษาของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเรียนรู้และความรู้ ชาวมอรมอนเน้นอย่างแจ้งชัดว่าการศึกษามีไว้สำหรับทุกคน เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อความคิดและวิญญาณ การศึกษาไม่เพียงเกี่ยวกับสติปัญญาเท่านั้น แต่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายแสวงหาการเรียนรู้ “โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118) ส่วนหนึ่งหมายความว่าชาวมอรมอนเห็นคุณค่าการเรียนรู้ในแบบที่รวมเอาความรอบรู้ทางปัญญาและทางวิญญาณไว้ด้วยกัน[8] พวกเขายอมรับเช่นกันว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจทางวิญญาณจำเป็นต้องสอบถามด้วยเหตุผลเกี่ยวกับจุดประสงค์สูงสุดของเรื่องนั้น[9] นอกจากนี้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยังประกาศยืนยันว่าโดยพื้นฐานแล้วศรัทธาและเหตุผลไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน[10] ดังนั้นการแสวงหาความจริงจึงไร้ขีดจำกัดถึงแม้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความเข้าใจที่ทำให้ผู้แสวงหาเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ที่จำเป็นของชีวิต[11]

แม้การศึกษามีบทบาทสำคัญยิ่งในศาสนศาสตร์ของชาวมอรมอน แต่ก็มีคุณค่าส่วนตัวในด้านอื่นเช่นกัน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อว่าการศึกษาควรยกระดับและสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต บริคัม ยังก์อธิบายว่า “การศึกษาคือพลังความสามารถที่จะคิดได้อย่างชัดเจน ทำงานของโลกได้ดี และเห็นคุณค่าของชีวิต”[12]ชาวมอรมอนเห็นคุณค่าชีวิตที่เต็มไปด้วยสติปัญญาและความอุดมสมบูรณ์ที่การศึกษาเพิ่มเข้ามาให้ประสบการณ์ชีวิต พวกเขาได้รับการกระตุ้นให้รักการเรียนรู้และการสอน พวกเขาตระหนักว่าความรู้เพิ่มพลังความสามารถให้แต่ละคน[13]

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อเช่นกันว่าการเรียนรู้ควรมีคุณค่าเชิงปฏิบัติ ควรปรับปรุงความสามารถของคนๆ หนึ่งให้กระทำคุณประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น พึ่งพาตนเองทางการเงิน และ “ทำงานของโลกได้ดี”[14] วิสุทธิชนยุคสุดท้ายตระหนักว่าการศึกษาสำคัญยิ่งเพราะเหตุผลทางศีลธรรมและทางปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การสนับสนุนและการเลี้ยงดูครอบครัวจนถึงการมีส่วนร่วมในสังคมที่กว้างขึ้น การศึกษาเป็นความรับผิดชอบจริงจังสำหรับบิดามารดาผู้มีหน้าที่จัดหาสิ่งจำเป็นในชีวิตให้บุตรธิดา ประธานศาสนจักรโธมัส เอส. มอนสัน กระตุ้นทั้งชายและหญิงให้ศึกษาหาความรู้เพื่อมีส่วนร่วมตามความจำเป็นในโลกของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ[15] การศึกษาทำให้ผู้แสวงหาทำประโยชน์ให้ชุมชนของพวกเขาได้มากขึ้น และยกระดับความสามารถในการรับใช้ครอบครัวมนุษย์

ชาวมอรมอนประกาศยืนยันว่าการศึกษาสำคัญอย่างยิ่งกับคนในครอบครัวเช่นกัน ดังที่วิสุทธิชนเข้าใจว่าครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคมมนุษย์ พวกเขาจึงถือว่าบ้านเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ของมนุษย์ บิดามารดาได้รับมอบหมายจากเบื้องบนให้เลี้ยงดูบุตรธิดา “ในแสงสว่างและความจริง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:40) พวกเขามีความรับผิดชอบเบื้องต้นในการทำให้บุตรธิดาเกิดวุฒิภาวะทางปัญญา สังคม และวิญญาณผ่านหลักการและแบบอย่าง การเลี้ยงดูบุตรธิดาถือเป็นการทำงานร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า บิดามารดาและนักการศึกษาคนอื่นๆ มีหน้าที่นำเด็กไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเวลานี้และชั่วนิรันดร์[16]

ขอบข่ายของการศึกษา

ความเข้าใจเรื่องการศึกษาของมอรมอนครอบคลุมวงกว้าง ไม่เฉพาะการเรียนรู้แบบต่างๆ เท่านั้น แต่ในวิธีอื่นๆ ด้วย คำสอนของศาสนจักรสรุปขอบข่ายกว้างขวางของความรู้อันทรงคุณค่า โดยรวมแขนงวิชาการทางโลกและทางศาสนาอันไร้ขีดจำกัดไว้ด้วยกัน ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเรื่องต่างๆ อีกนับไม่ถ้วนจัดอยู่ในขอบเขตอันกว้างขวางเหล่านี้ ซึ่งขยายออกนอกขอบข่ายความรู้ด้านศาสนา[17] โดยแท้แล้วเมื่อถึงระดับหนึ่ง ชาวมอรมอนจะไม่แยกแยะระหว่างความรู้ “ทางโลก” กับ “ทางศาสนา” พวกเขาถือว่าความจริงทุกรูปแบบสัมพันธ์กันและศักดิ์สิทธิ์

ถึงแม้ “การศึกษา” มักเสนอให้เรียนตามเกณฑ์ แต่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายตระหนักว่าการศึกษาเกี่ยวข้องมากกว่านั้น ศาสนจักรกระตุ้นให้ถือว่าการศึกษาเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว[18] และสอนว่าแต่ละคนควรศึกษาหาความรู้โดยอิสระตามบริบทชีวิตของตนเอง โดยเรียนรู้ในด้านต่างๆ เท่าที่สภาวการณ์เอื้ออำนวย[19] แม้จะมองว่าโปรแกรมการศึกษาตามเกณฑ์มีความจำเป็น แต่ชาวมอรมอนให้ความสำคัญเช่นกันต่อการอ่าน การศึกษา การคิด และการสังเกตสิ่งต่างๆ พวกเขาประกาศยืนยันว่าความมั่งคั่งของความรู้มีให้ทุกคนที่ประสงค์จะได้มา

สุดท้าย วิสุทธิชนยุคสุดท้ายถือว่าการศึกษาเป็นหลักธรรมที่ก้าวข้ามความเป็นนิรันดร์ พระคัมภีร์ของชาวมอรมอนสอนว่า “หลักธรรมแห่งความรู้แจ้งขั้นใดก็ตามที่เราบรรลุในชีวิตนี้” จะตามเราไปในชีวิตหน้า (หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:18) วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเห็นว่าการศึกษาไม่มีวันจบสิ้น พวกเขาคาดหมายและคาดหวังการเรียนรู้ระยะยาวที่ขยายต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนดไปจนถึงอนาคต

2. ประเพณีการศึกษาของชาวมอรมอน

ประเพณีการศึกษา[20] ที่แวดล้อมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นประเพณีที่จริงจังและมีมายาวนาน— เป็นตราสัญลักษณ์ของผู้คนในศาสนจักรอย่างแท้จริง[21] เป็นเวลาเกือบ 200 ปีที่ชาวมอรมอนพัฒนาโครงการศึกษาและรักษาวัฒนธรรมซึ่งการศึกษาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ประเพณีนี้สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของศาสนจักร

นอกจากพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนแล้ว วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยังพึ่งพาการเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธผู้ก่อตั้งศาสนจักรได้รับจากสวรรค์ด้วยเพื่อเป็นกรอบความคิดและจุดประสงค์ที่แน่นอนสำหรับการเรียนรู้[22] นอกจากนี้ พระคัมภีร์ยุคปัจจุบันยังกระตุ้นวิสุทธิชนให้เห็นคุณค่าและแสวงหาปัญญาทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและหมั่นสอนกัน ทั้งนี้เพื่อจะ “ได้รับการแนะนำอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทฤษฎี, ในหลักธรรม, ในหลักคำสอน, [และ]ในกฎแห่งพระกิตติคุณ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:78) คำสอนเช่นนั้นเร่งเร้าความพยายามหลากหลายรูปแบบด้านการศึกษาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของชาวมอรมอน

คำสอนเหล่านี้ขยายปณิธานของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสมัยเริ่มแรกที่มีต่อการศึกษาของลูกหลานและทำให้พวกเขาอุทิศตนเพื่อปรับปรุงตนเองและเติบโตด้านการศึกษามากขึ้น เช่นเดียวกับหลายครอบครัวในยุคเดียวกัน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายศึกษาในบ้าน แต่ก็ศึกษาหาความรู้ตามเกณฑ์มากขึ้นเช่นกัน ในช่วงยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อการศึกษามักจะเป็นสิทธิพิเศษของคนส่วนน้อย แต่ชาวมอรมอนในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ ได้ก่อตั้งโรงเรียนของตนเอง บางคนสอนด้านศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ บางคนสอนสมาชิกในชุมชน— รวมทั้งสตรีและเยาวชน— ในการศึกษาภาษา เลขคณิต ไวยากรณ์ และองค์ประกอบอื่นๆ ของหลักสูตรดั้งเดิม

ชาวมอรมอนบุกเบิกการศึกษาบริเวณชายแดนอเมริกันสมัยศตวรรษที่ 19 ในรัฐมิสซูรีด้วย โดยจัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกในเมืองหนึ่งซึ่งปัจจุบันคือแคนซัสในปี ค.ศ. 1831 ไม่กี่ปีต่อมาในเมืองนอวู อิลลินอยส์ที่สร้างขึ้นใหม่ พวกเขาดูแลสังคมให้เติบโตโดยรวมการศึกษาขั้นสูงและวัฒนธรรมขั้นสูงไว้ด้วยกัน ผู้นำศาสนจักรอธิบายว่าจุดประสงค์หลักประการหนึ่งที่ให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมารวมกันคือ เพื่อพวกเขาจะได้ประโยชน์จากการศึกษา และในนอวูประโยชน์มากมายเหล่านี้เกิดขึ้นจริง[23] พวกเขามีวิสัยทัศน์และจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล สโมสร โรงละคร พิพิธภัณฑ์ ห้องบรรยาย สมาคมวรรณกรรม และสมาคมอื่นๆ วิสุทธิชนก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมืองนอวูซึ่งบริหารระบบการศึกษาของเมือง ผู้มาเยือนนอวูพบว่าผู้คนมุ่งมั่นต่อทั้งหลักธรรมทางศาสนาและการปรับปรุงความคิดของตนเอง[24]

แม้ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวมอรมอนกระจายไปตั้งนิคมทางตะวันตกของสหรัฐ การศึกษายังคงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ผู้นำศาสนจักรบริคัม ยังก์ จอห์น เทย์เลอร์ และวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ต่างพยายามสนับสนุนการเรียนรู้โดยกำกับดูแลการตั้งโรงเรียนและ “สถาบันความรู้” สเตค ซึ่งเปิดช่องทางให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่มักขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เข้าสู่โปรแกรมการศึกษาอย่างเป็นระบบ โรงเรียนและสถาบันความรู้สเตคหลายแห่งกลายเป็นมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมปลายสมัยใหม่ของเขตนับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อมีทางเลือก ศาสนจักรจึงพยายามให้การศึกษาทางโลกน้อยลง และเริ่มพัฒนาระบบส่งเสริมการศึกษาศาสนาสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกวัยแทน

3. โครงการด้านการศึกษาของศาสนจักร

ตามประเพณีแล้ว การศึกษายังคงครองอันดับสำคัญยิ่งในชีวิตและความเชื่อของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

นอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนในการนมัสการวันอาทิตย์ การนมัสการที่พระวิหาร และสภาวะแวดล้อมอื่นๆ แล้ว ศาสนจักรยังมีแผนมากมายไว้ช่วยสมาชิกศึกษาหาความรู้

การสนับสนุนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของศาสนจักรอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าศาสนจักรตระหนักถึงความจำเป็นของการศึกษาชั้นเลิศในวงกว้าง ศาสนจักรเป็นเจ้าของและดำเนินงานมหาวิทยาลัยสามแห่ง (มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์-ฮาวาย และ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์-ไอดาโฮ) วิทยาลัยหนึ่งแห่ง (วิทยาลัยธุรกิจแอลดีเอส) ที่สถาบันเหล่านี้ การศึกษาทางโลกผสมผสานกับแนวความคิดและหลักธรรมทางศาสนาของศาสนจักร ศาสนจักรมีโรงเรียนประถมและมัธยมในเม็กซิโก ตองกา ซามัว ฟิจิ และคิริบาตีด้วย

เซมินารีและสถาบันศาสนาของศาสนจักรประกอบเป็นระบบการศึกษาของศาสนจักร สถาบันเหล่านี้เน้นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาทั่วทุกด้านที่รวมความรู้ด้านศาสนาและศรัทธาเข้าด้วยกัน

เซมินารี เป็นโปรแกรมการศึกษาศาสนาสี่ปีสำหรับนักเรียนมัธยมปลายทุกศาสนาโดยศึกษาหนังสือพระคัมภีร์วิสุทธิชนยุคสุดท้ายต่างกันไปในแต่ละปี— พันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์มอรมอน หรือหลักคำสอนและพันธสัญญา ชั้นเรียนเซมินารีสอนโดยครูเต็มเวลาและครูอาสาสมัคร มักจะสอนในอาคารศาสนจักร มีนักเรียนเซมินารีทั่วโลกประมาณ 350,000 คน

สถาบันศาสนา จัดการศึกษาศาสนาให้คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปีในที่ต่างๆ ทั่วโลกกว่า 2,500 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ชั้นเรียนสถาบันจะศึกษาพระคัมภีร์ ประวัติศาสนจักร หลักคำสอน การเตรียมแต่งงานและทำงานเผยแผ่ของศาสนจักร ปัจจุบันมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนสถาบันประมาณ 350,000 คน

กองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่ศาสนจักรตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2001 เพื่อให้คนหนุ่มสาวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมของศาสนจักรในพื้นที่กำลังพัฒนาของโลกได้มีโอกาสศึกษาตามความจำเป็นเพื่อเพิ่มโอกาสด้านเศรษฐกิจของพวกเขา สมาชิกศาสนจักรบริจาคเข้ากองทุนนี้ และศาสนจักรคาดหวังให้ผู้รับทุนคืนเงินกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ นับแต่จัดตั้งกองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา กองทุนดังกล่าวขยายออกไปจนช่วยคนหนุ่มสาวได้หลายหมื่นคนแล้ว



[1]หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:36

[2]ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “จงมองหาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998 หน้า 63-66; บรูซ ซี. ฮาเฟน, “การชดใช้: ทั้งหมดเพื่อทั้งหมด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004 หน้า 119-122.

[3]ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:19

[4]ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “A House of Faith” BYU Studies (1996), 117-18.

[5]ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “หลักธรรมสองข้อสำหรับเศรษฐกิจ,” เลียโฮนา,พ.ย. 2009 หน้า 71.

[6]ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), หน้า 287

[7]2 นีไฟ 28:30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:11

[8] โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ อธิบายอย่างชัดเจนว่า “ความรู้เกิดขึ้นทั้งโดยเหตุผลและโดยการเปิดเผย” ดู “Educating for a Golden Era of Continuing Righteousness,” A Golden Era of Continuing Education (Brigham Young University, 1971), 2; หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:2

[9]ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “An Education for Real Life,” Ensign, ต.ค. 2002, 14-21.

[10]ดู ริชาร์ด ซี. เอชลีย์, “ศรัทธา—การเลือกเป็นของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010 หน้า 38-41.

[11]ดู 2 นีไฟ 9:29

[12]อ้างในจอร์จ เอช. บริมฮอลล์, “The Brigham Young University,” Improvement Era, ก.ค. 1920, 831.

[13]ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “หลักธรรมสองข้อสำหรับเศรษฐกิจ,” หน้า 71.

[14]เจมส์ อี. เฟาสท์, “Learning for Eternity” (BYU devotional address, 18 พ.ย. 1997), 3.

[15]ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “Great Expectations” (BYU devotional address, 11 ม.ค. 2009), 3.

[16]ดู แอล.{nb}ทอม เพอร์รีย์, “มารดาสอนลูกๆ ที่บ้าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010 หน้า 35-38.

[17]ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:79; 90:15

[18]ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Where Is Wisdom?” Ensign. พ.ย. 1992, 6-8.

[19]ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “หลักธรรมสองข้อสำหรับเศรษฐกิจ,” หน้า 71.

[20]ดูแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการศึกษาแอลดีเอสในข่าวสารนิทรรศการ “การศึกษาในไซอัน” ของบีวายยูที่นี่

[21]ดู เจมส์ อี. เฟาสท์ “Learning for Eternity,” 2.

[22]ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “A House of Faith,” 115

[23]ดู ซิดนีย์ ริกดัน “To the Saints Abroad,” Elders’ Journal, ส.ค. 1838, 53.

[24]ดู ตัวอย่างเช่น “Highly Important from the Mormon Empire,” New York Herald, มิ.ย. 17, 1842, 2.

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.