ข่าวเผยแพร่

ในคำปราศรัยที่ออกซฟอร์ด เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่ารัฐบาลควรปกป้องเสรีภาพทางศาสนา

อัครสาวกเข้าร่วมการประชุมเสรีภาพทางศาสนาในสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักรเช่นกัน

“เราไม่อาจละเลยความสำคัญของศาสนาในระดับโลก — ทั้งในเรื่องการเมือง การยุติข้อขัดแย้ง การพัฒนาเศรษฐกิจ การบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม และเรื่องอื่นๆ ” เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่ง โควรัมอัครสาวกสิบสอง ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ที่ เซนต์จอห์นคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

อัครสาวกมอรมอนกล่าวคำปราศรัยต่อคณะบุคคลที่มุ่งเน้นความสำคัญในเรื่องเสรีภาพทางศาสนาอันเป็นการประชุมร่วมระหว่างการสัมมนาแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของสถาบันอเมริกันแห่งโรเธอร์เมียร์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โปรแกรมคณะนิติศาสตร์ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ โปรแกรมศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (รีเจนท์พาร์คคอลเลจ) กับวารสารนิติศาสตร์และศาสนาของออกซฟอร์ด

“รัฐบาลควรปกป้องเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน” เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวแย้ง ท่านเคยเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของยูทาห์และเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ท่านเขียนบทความและกล่าวถึงเรื่องเสรีภาพทางศาสนาตลอดมาเป็นเวลากว่า 50 ปี

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่ามีเสียงเซ็งแซ่ที่กำลังท้าทายการปกป้องศาสนา ซึ่งท่านบอกว่ามีอยู่ในมาตราที่ 18 ของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ปี 1948 “เสียงอื่นๆ หมายมั่นจะลดความสำคัญของศาสนาและผู้ที่เชื่อ เช่นโดยการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาที่จะสอนในโบสถ์ วัด และมัสยิด ขณะเดียวกันยังปฏิเสธการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาในสถานที่สาธารณะ”

เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน วันก่อนที่เอ็ลเดอร์โอ๊คส์จะกล่าวคำปราศรัยที่ออกซฟอร์ด ท่านได้เข้าร่วมงาน All-Party Parliamentary Group (APPG) for International Freedom of Religion or Belief (กลุ่มรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองเพื่อเสรีภาพทางศาสนาหรือความเชื่อนานาชาติ) เป็นการประชุมภายในสภาขุนนางที่รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรในกรุงลอนดอน กลุ่มดังกล่าวมีไว้เพื่อผดุงเสรีภาพทางศาสนานานาชาติในฐานะสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งท่ามกลางรัฐสภา สื่อ รัฐบาล และสาธารณชน  

“ขณะที่สิทธิเสรีภาพทางศาสนาหรือความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมที่เจริญแล้ว แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นรัฐบาลของเราให้ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมในลำดับต้นๆ” บารอเนสเอลิซาเบธ เบอร์ริดจ์ สมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักรและประธานร่วม APPG for International Freedom of Religion or Belief กล่าวว่า “ในฐานะกลุ่มทั้งหมดของฝ่ายรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักร เรายินดีที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากองค์กรต่างๆ ผู้มีผลประโยชน์ร่วมทั้ง 24 องค์กร รวมถึงการสนับสนุนอย่างทุ่มเทจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การสนับสนุนเช่นนั้นนับเป็นสิ่งล้ำค่าต่องานรัฐสภาในด้านสิทธิมนุษยชนอันสำคัญยิ่งนี้”

บุคคลสำคัญท่านอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประชุม APPG ครั้งนี้ได้แก่ สมาชิกรัฐสภา โรเบิร์ต พี. จอร์จ (มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน) ประธาน, คณะกรรมการเสรีภาพทางศาสนานานาชาติในสหรัฐ และศาสตราจารย์โคล เดอร์แฮม (มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ ศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษากฎหมายและศาสนา) บารอเนสเบอร์ริดจ์ และโรเบิร์ต พี. จอร์จพูดในการประชุมที่ออกซฟอร์ดเช่นกัน

โรเบิร์ต พี. จอร์จกล่าวที่ออกซฟอร์ดว่า “ไม่เพียงรัฐบาลเท่านั้นที่มีความรับผิดชอบต่อการเป็นผู้สนับสนุนที่มีอิทธิพลสำหรับเสรีภาพทางศาสนา กลุ่มศาสนาทั้งหลายต่างก็มีความรับผิดชอบอย่างมากเช่นกัน  จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนทางศาสนาต้องเอื้อมออกไปหาผู้คนอีกฝ่ายหนึ่งของการแบ่งแยกศาสนาซึ่งมีความคิดในแนวเดียวกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนศาสตร์หรือวัฒนธรรม” 

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่าประชากรโลก 84 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าตนเองนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้อยู่อาศัยของโลก 87 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในประเทศที่มีข้อจำกัดด้านเสรีภาพทางศาสนาที่สูงหรือสูงมาก ตามที่พิวรายงาน

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวที่ออกซฟอร์ดเมื่อวันพฤหัสว่า “การเข้าใจศาสนาและความสัมพันธ์ของศาสนากับข้อกังวลของโลกและกับรัฐบาลคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงโลกซึ่งเราอาศัยอยู่”

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวต่อไปว่า “แม้ในโลกส่วนใหญ่ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาและส่วนที่เหลือยังถูกคุกคามจากฆราวาสนิยมและคตินิยมสุดขั้ว ผมขอพูดสนับสนุนอุดมคติซึ่งศาสนาใฝ่หาการปกป้องเสรีภาพว่าเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราและมีอยู่เป็นปรกติวิสัย แต่ถูกนำไปปฏิบัติผ่านสัมพันธภาพร่วมกันกับรัฐบาลซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะให้พลเมืองของตนมีความผาสุกโดยถ้วนหน้า”

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่า “ความก้าวหน้าทางศีลธรรมที่สำคัญที่สุดหลายด้านในอารยธรรมตะวันตกได้รับแรงจูงใจจากหลักธรรมทางศาสนาและดำเนินไปสู่การนำไปใช้อย่างเป็นทางการโดยโอวาทจากแท่นพูด”

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่างานการกุศลส่วนใหญ่ในสหรัฐ “มีผู้ริเริ่มและยังคงได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีที่สุดจากองค์กรทางศาสนาและด้วยแรงจูงใจทางศาสนา” ท่านเสริมว่าการที่สังคมตะวันตกดำรงอยู่ได้นั้นไม่ใช่เพราะการบังคับใช้กฎหมาย แต่เพราะมีผู้ที่เชื่อฟังกฎหมายโดยสมัครใจเนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา

ท่านอธิบายว่า “ผมขอสนับสนุนว่าคำสอนทางศาสนาและการกระทำที่ได้รับแรงจูงใจจากศาสนาของผู้เชื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมที่มีอิสรภาพและรุ่งเรือง ซึ่งคู่ควรแก่การที่กฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ”

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่ามีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับศาสนา ท่านกล่าวอีกว่า “รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะคาดหวังการเชื่อฟังกฎหมายและเคารพวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย” และไม่มีประเทศใดจำเป็นต้องให้ที่ลี้ภัยแก่องค์กรที่ส่งเสริมการก่อการร้าย

ท่านกล่าวว่าการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างศาสนากับรัฐบาลกำลัง “ถูกทดสอบอย่างหนัก” ในยุโรปทุกวันนี้

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวต่อไปว่า “การที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีวัฒนธรรมอิสลามหลั่งไหลเข้าไปในประเทศที่มีวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกันก่อให้เกิดความท้าทายร้ายแรงทางด้านการเมือง วัฒนธรรม สังคม การเงิน และศาสนาอย่างเห็นได้ชัด” แต่ท่านใช้ตัวอย่างจากศาสนาของท่าน ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาสนาและองค์กรทางศาสนาสามารถช่วยเหลือในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างไร

ชาวมอรมอนจัดหาการบรรเทาทุกข์สำหรับผู้ลี้ภัยในยุโรป รวมทั้งการดำเนินงานเพื่อมนุษยธรรมในด้านอื่นๆ ทั่วโลกโดยไม่คำนึงถึงศาสนา ในปี 2015 ศาสนจักรมีส่วนร่วมในโครงการตอบสนองภัยพิบัติฉุกเฉิน 177 โครงการใน 56 ประเทศ นอกจากนั้น โครงการอีกหลายร้อยโครงการเช่นโครงการน้ำสะอาด การฉีดวัคซีน และการดูแลรักษาสายตาส่งผลต่อผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลก

ตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างองค์กรการกุศลแอลดีเอส ฝ่ายมนุษยธรรมของศาสนจักร กับมูลนิธิ AMAR ของอังกฤษในปี 2015 เพื่อสร้างศูนย์สุขภาพเบื้องต้นสำหรับชนกลุ่มน้อยยาซีดิทางตอนเหนือของอิรักซึ่งตกเป็นเป้าของ ISIS และการดำเนินงานบรรเทาทุกข์ห้าปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2004 ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายแสนคนใน 14 ประเทศ

“ในศาสนจักรของเรา การดูแลผู้ยากไร้และคนขัดสนไม่ใช่ทางเลือกหรือเหตุบังเอิญ” เอ็ลเดอร์โอ๊คกล่าว

ท่านสรุปคำปราศรัยของท่านโดยชี้แจงถึงข้อดีต่างๆ ที่ศาสนจักรมีอยู่มากมายซึ่งช่วยขยายประสิทธิผลของโครงการ รวมถึงอาสาสมัครที่มีประสบการณ์ เงินบริจาคที่สมาชิกจัดหาให้โครงการ และองค์กรรากหญ้าทั่วโลกที่สามารถรวมพลได้โดยฉับพลัน ในเดือนมีนาคม ปี 2016 ผู้นำศาสนจักรเชื้อเชิญให้สตรีทุกวัย ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในชุมชนท้องถิ่นของพวกเธอ

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์ยังมีกำหนดการเป็นผู้พูดหลักที่การประชุมใหญ่เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประจำปีของสมาคมกฎหมายเจ. รูเบน คลาร์กแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ซึ่งจัดขึ้นที่ชอร์ลีย์ แลงคาเชอร์ ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน

คมวาทะ:

“การเข้าใจศาสนาและความสัมพันธ์ของศาสนากับข้อกังวัลของโลกและกับรัฐบาลคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงโลกซึ่งเราอาศัยอยู่”

“รัฐบาลควรปกป้องเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน”

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์

โควรัมอัครสาวกสิบสอง

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.