ข่าวเผยแพร่

เอ็ลเดอร์ราสแบนด์อุทิศพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย

พระวิหารแห่งแรกของคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘โอบอุ้มอยู่ในอ้อมแขนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก’

เมื่อเอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นประธานในพิธีอุทิศพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยแห่งใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงไม่เพียงมีพระวิหารที่เปิดดำเนินการเป็นแห่งที่ 185 ของโลกเท่านั้น แต่เป็นแห่งแรกในคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

พิธีอุทิศในวันอาทิตย์ดึงดูดวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายพันคนตลอดวันเมื่อผู้เข้าร่วมพิธีอุทิศพระวิหารสองรอบไม่เพียงนั่งอยู่ทั่วพระวิหารหกชั้นขนาด 48,525 ตารางฟุต และมียอดแหลมหกยอด แต่เข้าร่วมในห้องนมัสการขนาดใหญ่สองห้องและบริเวณอื่นๆ ในอาคารเสริมที่อยู่ติดกับพระวิหารด้วย

ในการเตรียมพูดที่พิธีอุทิศทั้งสองรอบและถวายคำสวดอ้อนวอนอุทิศในแต่ละรอบ เอ็ลเดอร์ราสแบนด์บอกว่าท่านได้ทบทวนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและประวัติของศาสนจักรในประเทศไทยและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  “สิ่งที่ติดอยู่ในใจข้าพเจ้าคือประเทศและพระวิหารแห่งนี้ถูกโอบอุ้มอยู่ในอ้อมแขนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก” เอ็ลเดอร์ราสแบนด์กล่าว

นั่นรวมถึงการอุทิศประเทศไทยเพื่อการสั่งสอนพระกิตติคุณใน ค.ศ. 1966 โดยเอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเวลานั้นและประธานศาสนจักรในเวลาต่อมา และการอุทิศอาคารประชุมแห่งแรกของศาสนจักรในประเทศนี้ใน ค.ศ. 1974 โดยเอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองด้วย

เอ็ลเดอร์ราสแบนด์แสดงความชื่นชมเป็นพิเศษต่อบทบาทของประธานศาสนจักรสามท่านล่าสุดในการมีพระนิเวศน์ของพระเจ้าในกรุงเทพมหานคร — ประธานฮิงค์ลีย์ผู้พยากรณ์ไว้ใน ค.ศ. 2000 ว่าจะมีพระวิหาร ประธานโธมัส เอส. มอนสันผู้ประกาศสร้างพระวิหารอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 2015 และประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันผู้มาเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างพระวิหารเมื่อห้าปีก่อนและมอบหมายให้เอ็ลเดอร์ราสแบนด์ทำพิธีอุทิศในสุดสัปดาห์นี้

ท่านอัครสาวกยกคำพูดจากประธานศาสนจักรหนึ่งในสามท่านมาอธิบายกระบวนการพยากรณ์

ท่านยกคำพูดของประธานฮิงค์ลีย์จากการประชุมกับสมาชิกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 ว่า “พระเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเรา  พระองค์ทรงนำเราผ่านความยากลำบากมายาวนาน แต่บัดนี้สวรรค์แย้มสรวลให้เราแล้ว  ท่านทั้งหลายเป็นผู้บุกเบิกที่นี่ในการผลักดันงานของพระเจ้าในประเทศนี้ และข้าพเจ้าสัญญาว่าหากท่านซื่อสัตย์ เวลาจะมาถึงเมื่อจะมีการสร้างพระวิหารในประเทศไทย”

ท่านยกคำพูดของประธานมอนสันเมื่อครั้งประกาศสร้างพระวิหารกรุงเทพในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ค.ศ.  2015 ภาคเช้าวันอาทิตย์ว่า “เช้านี้ข้าพเจ้ามีความยินดียิ่งที่จะประกาศสร้างพระวิหารใหม่สามแห่งในสถานที่ดังต่อไปนี้ อาบิดจัน ไอวอรี่โคสต์, ปอร์โตแปรงซ์ เฮติ, และกรุงเทพฯ ประเทศไทย  ช่างมีพรอันน่าอัศจรรย์รอคอยสมาชิกที่ซื่อสัตย์ในพื้นที่เหล่านี้”

และท่านยกคำพูดของประธานเนลสันผู้มาเยือนประเทศไทยครั้งแรกสมัยยังเป็นแพทย์ก่อนการเรียกเป็นอัครสาวกใน ค.ศ. 1984 และเป็นผู้นำอาวุโสของศาสนจักรในเวลาต่อมา และเริ่มปฏิบัติศาสนกิจทั่วโลกครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2018  ระหว่างการประชุมกับสมาชิกในกรุงเทพฯ เดือนเมษายน ค.ศ. 2018 ประธานเนลสันสัญญาว่า “ข้าพเจ้าอวยพรท่านให้มีความรักที่บ้าน มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน และมีปีติในใจขณะเตรียมรับพระวิหารของพระเจ้าในประเทศศักดิ์สิทธิ์นี้”

เอ็ลเดอร์ราสแบนด์เคยเดินทางมากรุงเทพฯ และประเทศไทยหลายครั้งสมัยเป็นผู้บริหารของฮันส์แมนเคมิคอล รวมถึงสมัยเป็นประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้วย  พิธีอุทิศพระวิหารเป็นงานล่าสุดในงานมอบหมายจำนวนหนึ่งที่ท่านทำสำเร็จลุล่วงในประเทศไทย

ทั้งหมดนั้นทำให้งานมอบหมายนี้เป็นงานที่ท่านซาบซึ้งอย่างยิ่ง ทำให้รู้สึกอ่อนน้อมและ “เหมือนฝัน” เอ็ลเดอร์ราสแบนด์กล่าว

ท่านเข้าร่วมพิธีอุทิศกับซิสเตอร์เมลานี ราสแบนด์ภรรยาของท่าน เอ็ลเดอร์เบ็นจามิน เอ็ม.ซี. ไต สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และประธานภาคเอเชีย พร้อมด้วยซิสเตอร์นาโอมิ โทมะ ไต ภรรยาของท่าน เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคน สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และผู้อำนวยการบริหารแผนกพระวิหาร พร้อมด้วยภรรยา ซิสเตอร์แนนซี ดันแคน และเอ็ลเดอร์เอริค ดับเบิลยู. โคพิชกา สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารแผนกพระวิหาร พร้อมด้วยภรรยา ซิสเตอร์คริสตีแอน โคพิชกา

พรของพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยขยายออกนอกเขตแดนประเทศเจ้าบ้าน  ท้องถิ่นพระวิหารครอบคลุมตั้งแต่กัมพูชาไปถึงปากีสถานและตั้งแต่เนปาลไปถึงอินโดนีเซีย

ใน ค.ศ. 1852 บริคัม ยังก์เรียกผู้สอนศาสนาสี่คนให้รับใช้ในประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าสยาม  มีเพียงคนเดียวที่มาถึง แต่ไม่ได้มาถึงจนกระทั่ง ค.ศ. 1854 และอยู่ได้เพียงสี่เดือนเท่านั้นเพราะอุปสรรคด้านภาษา

ครอบครัวสมาชิกที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในทศวรรษ 1950 เริ่มจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการนานๆ ครั้งจนกระทั่งศาสนจักรอนุญาตให้จัดพิธีนมัสการเป็นประจำใน ค.ศ. 1961 สำหรับกลุ่มนมัสการจำนวนไม่มากที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดต่อเนื่องมานับแต่นั้น

ผู้สอนศาสนาหกคนถูกส่งมาประเทศไทยครั้งแรกใน ค.ศ. 1968 โดยจัดตั้งคณะเผยแผ่ในประเทศใน ค.ศ. 1973  จัดตั้งสเตคแรกในกรุงเทพฯ ใน ค.ศ. 1995 สเตคที่สองตามมาใน ค.ศ. 2014 และสเตคที่สามในอีกสองปีต่อมา

Bangkok-temple-dedication
Bangkok-temple-dedication
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายพูดคุยและสวมกอดกันหลังเข้าร่วมพิธีอุทิศรอบแรกของพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 20232023 by Intellectual Reserve, Inc. All rights reserved.
Download Photo

สมาชิกภาพศาสนจักรในประเทศไทยเวลานี้มีเกิน 23,000 คนในที่ประชุมกว่า 40 แห่ง อาคารประชุมมีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ รวมถึงเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี

ชลธิชา “แอปเปิ้ล” สีหนาทเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคนไทยรุ่นที่สอง เธอรับบัพติศมาตอนอายุ 9 ขวบและรับใช้งานเผยแผ่ในประเทศไทย  เมื่อมีพระวิหารในประเทศไทย ชลธิชากล่าวว่า “ฉันรู้สึกเหมือนมีบ้านอีกหลังที่มาได้ทุกเมื่อ ฉันรู้สึกว่าจะเกิดความสุขในชีวิตง่ายขึ้นเพราะพระวิหารอยู่ใกล้ครอบครัวฉันมากขึ้น”

อยุทธญภควดี แม็คจอร์จ กล่าวว่าการร่วมพิธีอุทิศพระวิหารจะเปิดโอกาสให้ได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเพิ่มขึ้น “ฉันได้รับความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเราต้องแบกพันธสัญญาข้ามกระแสน้ำของชีวิต” เธอกล่าว

ภาวนา ปรีชากุล อายุ 14 ปีเพิ่มเติมว่า “พระวิหารศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับฉันและครอบครัว ในอนาคตฉันอยากอยู่ในพระวิหารนี้และรับใช้ที่นี่”

ปริญญา สุพรรณ อายุ 16 ปีกล่าวว่า “การมีพระวิหารที่นี่และการทำงานพระวิหารให้บรรพชนที่เสียชีวิตแล้วเป็นพรสำหรับผมและสำหรับบรรพชน”

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.